สวัสดีค่ะ วันนี้เจ้าของบล็อกมีบทความที่น่าสนใจมาก ๆ มาฝากอีกหนึ่งบทความค่ะ เป็นบทความที่มาจาก Polygon ซึ่งกล่าวถึงความรุนแรงในโลกออนไลน์ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงไปยังตัวผู้พัฒนาเกม ฟังดูเหมือนปัญหานี้มันน่าจะมีเฉพาะในฝั่งตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ มันน่าจะไกลตัวเรามากใช่ไหมคะ อันที่จริงมันไม่ไกลตัวเราเลยค่ะ เพราะจากที่เจ้าของบล็อกได้ลองอ่านแล้วพบว่า ปัญหาในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับทุกวงการไม่ใช่แค่วงการเกมอย่างเดียว แล้วยิ่งถ้าได้ลองอ่านบทความแล้วย้อนกลับมามองที่บ้านเราจะทำให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นเลยค่ะ
การเพิ่มขึ้นอย่างมากของเหล่าบรรดานักเล่นเกมที่นับวันยิ่งบ้าคลั่งขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของนักพัฒนาเกมในปัจจุบันไม่น้อยเลยทีเดียว เนื่องจากเหล่านักพัฒนาเกมพบว่าพวกเขากำลังถูก “คุกคาม” ซึ่งการกระทำเช่นนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Cyber harrasment หรือ Online harrasment”
คำว่าแฟน หรือ Fans ในภาษาอังกฤษมาจากคำว่า Fanatical มีความหมายว่า คนที่คลั่งไคล้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ กีฬา หนังสือ ดารา นักร้อง พวกเขาพร้อมที่จะแสดงออกต่อสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามผลงานศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบ การสร้างกลุ่มขึ้นมาหรือที่เรียกว่า แฟนคลับ การคอสเพลย์ แต่งตัวเลียนแบบตัวการ์ตูนหรือตัวละครจากเกมที่ตนชอบ เป็นต้น แต่ว่าความคลั่งไคล้เหล่านี้หากคลั่งไคล้จนเกินขอบเขตก็อาจนำพามาซึ่งความเลวร้ายได้เช่น การฆ่าตัวตาย การลักพาตัว การทรมาณ การลอบทำร้าย การแอบติดตาม และการสูญเสียทรัพย์สิน
Nathan Fisk อาจารย์ประจำภาควิชา Science and Technology แห่งมหาวิทยาลัย Rensselaer Polytechnic Institute แสดงความเห็นว่า สาเหตุจากการแสดงท่าทีข่มขู่ของเหล่าแฟน ๆ เกมที่กระทำต่อนักพัฒนาเกมนั้นน่าจะมาจากหลายปัจจัย และหนึ่งในนั้นคือการแสดงอำนาจ เนื่องจากว่าแฟน ๆ เกมรู้สึกว่าพวกเขาอินไปกับเกมและเป็นส่วนหนึ่งในเกมนั้น ๆ
โลกเสมือนไร้ตัวตนบนอินเตอร์เน็ตอาจทำให้ผู้คนแสดงพฤติกรรมที่เป็นภัยคุกคามผู้อื่นได้ง่ายขึ้น อ้างอิงจากผลการศึกษาหลาย ๆ ชิ้น คุณ Fisk กล่าวว่า การขาดการชี้นำทางสังคมและการขาดการตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาทำให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงวิธีที่พวกเขาปฏิบัติต่อผู้อื่น
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวผู้พัฒนาเกมถูกคุกคามได้ง่ายขึ้นอันเนื่องมาจากการเปิดเผยตัวตนของพวกเขาต่อนักเล่นเกม นักพัฒนาเกมส่วนใหญ่เลือกที่จะพบปะพูดคุยกับนักเล่นเกมผ่านสังคมออนไลน์มากขึ้นแต่นั่นก็เป็นดาบสองคม เพราะมันก็กลายเป็นช่องทางที่ทำให้พวกเขาถูกคุกคามได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
มี 2 เกมดังที่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันอย่างเช่นเกม Fez 2 และ Call of Duty Black ops 2 ซึ่งรายหลังนี้เห็นได้ชัดเนื่องจากมีคนตามกด Dislike ใน Youtube เป็นจำนวนมากและตามโพสต์ต่อว่าทุกคลิปที่เกี่ยวข้องกับ Call of Duty เลยก็ว่าได้
เมื่อปลายเดือนที่แล้ว คุณ David Vonderharr ตัวแทนจาก Treyarch studio ใช้ Twitter เพื่อประกาศออก Patch สำหรับแก้ไขข้อผิดพลาดในเกมมุมมองบุคคลที่หนึ่งชื่อดังอย่าง Call of Duty Black ops2 ซึ่งตัว Patch ที่ออกมานั้นเพื่อใช้แก้ไขให้ภาพและเสียงของปืนชนิดหนึ่งในเกมลดความรุนแรงลง มีผลเฉพาะในระบบ Multiplayer ของเกมเท่านั้น เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณ Vonderharr จนคุณ Dan Amrich ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Activision ออกมาปรามผู้ที่กระทำการเช่นนั้นว่า
“หากว่าคุณยังรู้สึกสนุกไปกับการเล่นเกม โปรดให้ความเคารพในผู้ที่พัฒนาเกมเหล่านั้น และขอให้หยุดการกระทำอันเป็นภัยคุกคามตลอดการทำงานของพวกเขาด้วย”
หลังจากนั้น 4 วันผู้พัฒนาเกมคุณ Phil Fisher ผู้พัฒนาเกม Fez 2 ได้โต้เถียงผ่าน Twitter กับนักเขียนท่านหนึ่งนามว่า Marcus Beer (ผู้ซึ่งใช้ชื่อใน Twitter ว่า Annoyed Gamer) ทั้งสองทะเลาะกันอย่างรุนแรงใน Twitter โดยคุณ Fish ได้ทวีตข้อความว่า “ฉันโคตรเกลียดไอ้เรื่องแบบนี้เลยว่ะ” (เรื่องการถูกต่อต้านและคำวิจารณ์ในด้านลบ) และหลังจากนั้นคุณ Fish ก็ทวีตต่อไปว่า “ฉันไม่ทำมันแล้ว Fez2 ยกเลิกแล้ว ลาล่ะ” ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วคุณ Fish ก็ยืนยันแล้วว่าโปรเจคของเกมนี้ยกเลิกแล้วจริง ๆ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม (มหากาพย์เลยค่ะ 2 คนนี้เถียงกันไปเถียงกันมา)
Adam Orth ผู้ซึ่งเป็น creative director ประจำ Microsoft studio ก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกันหลังจากที่เขาได้ทวีตข้อความเกี่ยวกับระบบ always online สำหรับ Xbox one หลังจากนั้นก็มีการทวีตข่มขู่ว่าจะฆ่าเขา ไม่นานคุณ Orth ก็ออกจาก Microsoft ไป และนอกจาก Microsoft แล้วยังมีเกม Sim City ที่ก็ได้รับผลกระทบนี้ด้วยเหมือนกันเนื่องจากตัวเกมบังคับให้ต้องมีการออนไลน์ตลอดเวลาทำให้บริษัทได้รับทั้ง email และ twitter ที่เป็นข้อความข่มขู่เป็นจำนวนมาก
อีกหนึ่งตัวอย่างมาจากคุณ Stephen Toulouse ผู้ซึ่งเคยทำงานเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและการรักษาความปลอดภัยบน Xbox Live ถึง 6 ปี เขากล่าวว่าข้อความข่มขู่ในลักษณะนี้มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง
“ฉันจะฆ่าแก”
เขากล่าวว่าตอนนี้มีข้อความลักษณะนี้อยู่ใน Xbox Live ของเขาประมาณ 70 ข้อความ และกว่าครึ่งเป็นข้อความที่ว่า “ฉันจะฆ่าแก” และ “ฉันจะตามหาแกและทำลายแก” ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้ทำงานให้กับ Microsoft มา 2 ปีกว่าแล้ว และก็ดูเหมือนว่าการกระทำเช่นนี้จะยังไม่มีบทลงโทษที่ออกมาอย่างจริงจัง และส่วนใหญ่ผู้ทีกระทำการเช่นนี้จะยังเป็นเยาวชนซะมาก ในขณะที่ผู้ใหญ่จะไม่กระทำเรื่องเช่นนี้เพราะจะเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องได้ ส่วนมากแล้วสิ่งที่ผู้ใหญ่ชอบทำกันคือการยกตนข่มคนอื่น
นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกด้วยว่า บทบาทที่เขาได้รับให้ทำใน Xbox Live นั้นเปรียบเสมือน “ตำรวจสาธารณะ” ทุกคนรู้ว่าเขาทำอะไร ใครก็ตามที่ทำผิดกฏบน Xbox Live ก็ต้องถูกเขาจัดการ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาได้รับจดหมายข่มขู่จำนวนมาก สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาออกจาก Microsoft ก็เพราะว่าบริษัทไม่รู้ว่าควรจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร เขาเคยร้องขอไปยังบริษัทให้จัดคนมาช่วยรักษาความปลอดภัยให้เขาในงานอีเวนท์อย่าง PAX แต่ว่า Microsoft กลับเพิกเฉยต่อคำขอของเขา หลังจากที่เขาออกจาก Microsoft ก็ยังไม่มีใครกล้ารับหน้าที่สานต่อจากเขาเลยสักคน
Cyberbullying Research Center (ศูนย์วิจัยเรื่องการกระทำรุนแรงบนโลกไซเบอร์) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2005 ศูนย์วิจัยนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิดและการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด สิ่งหนึ่งที่พวกเขาพบก็คือผู้ใช้อินเตอร์เน็ตหลายรายจะตัดขาดจากจิตสำนึกของพวกเขา เมื่อได้เข้าสู่โลกออนไลน์
“เมื่อแต่ละคนได้เข้าสู่โลกออนไลน์มันเหมือนกับว่าพวกเขาก็จะขาดจิตสำนึกในการเข้าสังคม ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ขาดความเป็นตัวตน และไม่คำนึงถึงกฏหมาย พวกเขาก็จะรู้สึกว่ามีอิสระในการพูดมากขึ้น อยากพูดอะไรก็จะพูด” คุณ Sameer Hinduja , Co-director กล่าว “คุณจะรู้สึกเป็นอิสระเมื่อเข้าสู่โลกออนไลน์ ทำไปตามอารมณ์โดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์ว่ามันเป็นอย่างไร”
ในขณะที่ทางองค์กรได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของตัวเลขที่กระตุ้นให้เกิดการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น อันเป็นผลมาจากการถูกคุกคามในโลกไซเบอร์ และในโรงเรียน ทำให้มีผู้ใหญ่หลายคนติดต่อเพื่อขอคำแนะนำกับทางกลุ่ม โดยทางกลุ่มเองก็ได้รับรายงานมาจากบริษัทเกมด้วยเช่นกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น คุณ Hinduja พบว่าปัญหานี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างในสังคมออนไลน์ ในยุคที่ผู้คนกำลังเข้าสู่ช่วงขาดศีลธรรม
“หากว่าคุณกำลังถูกคุกคาม คุณต้องทำอย่างไร” ทาง Cyberbullying Research Center ได้ให้คำแนะนำมา 10 ข้อดังนี้
1. อย่าตอบโต้
2. เก็บหลักฐานเอาไว้ทั้งหมด
3. แจ้งเตือนเพื่อนร่วมงานของคุณ
4. แจ้งตำรวจ
5. แจ้งไปยังผู้ให้บริการที่คุณใช้งานเช่น เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ Twitter หรือ Facebook
6. ขอคำปรึกษาด้านกฏหมายจากทนาย
7. บอกปัญหานี้ให้กับคนที่คุณไว้ใจฟัง
8. อย่าเป็นเพื่อนกับคนพวกนี้ (พวกที่ชอบกระทำตัวเป็นผู้คุกคามคนอื่นในโลกไซเบอร์)
9. จัดการบล็อคคนพวกนี้จากเว็บต้นตอ
10. เปลี่ยน email เบอร์โทรศัพท์มือถือ และ บัญชีออนไลน์ต่าง ๆ
คุณ Hinduja เสริมว่า หลังจากที่เขาทำการวิจัยมากว่า 10 ปี พบว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ผู้คนชินชาไปกับมัน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทุกวันนี้ยังมีเด็กที่ฆ่าตัวตายโดยมีสาเหตุมาจากการอ่านข้อความที่มีผู้อื่นโพสต์หรือแชร์ต่อ ๆ กันมา เขาหวังว่าสักวันหนึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ควรจะหมดลงเสียทีและผู้คนน่าจะหันมาแสดงตัวตนที่แท้จริงของตนเองมากขึ้นในโลกออนไลน์เพื่อที่ปัญหาแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป
“มีภาพกราฟิครุนแรงบอกว่าจะทำลายชีวิตลูก ๆ ของฉัน”
Jennifer Hepler อดีตพนักงานของ Bioware เธอลาออกจากบริษัทเพื่อที่จะหันมาทำงานด้านงานเขียนและรับงานอิสระ งานล่าสุดที่เธอเพิ่งจะทำเสร็จไปคืองานเขียน Dragon Age : Inquisition แต่ว่าภัยคุกคามนั้นมาจาก Dragon Age 2 ภัยคุกคามเหล่านั้นกำลังคืบคลานมาทำร้ายลูก ๆ ของเธอ เธอกล่าวว่าการลาออกจาก Bioware สาเหตุไม่ได้มาจาก Dragon Age แต่เป็นเหตุผลที่ส่วนตัว เธอต้องการจะจับงานเขียนอย่างจริงจัง
หลังจากที่ Dragon Age 2 ออกวางจำหน่ายในปี 2011 คุณ Helper ได้บอกกับทาง Polygon เพิ่มเติมว่าบริษัทได้รับอีเมลต่อว่าและข้อความข่มขู่จะทำร้ายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีบางคนพยายามขุดคุ้ยเอาข้อความเก่าที่คุณ Helper เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเกม Dragon Age เอาไว้นานแล้วออกมาเผยแพร่ มีบางคนถึงกับโทษว่าคุณ Helper เป็นสาเหตุที่ทำให้รูปแบบของเกมเปลี่ยนไป หลังจากนั้นไม่นานคุณ Helper ก็ลาออก แต่แล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็มีคนมาโพสต์กระทู้ต่อว่าคุณ Helper อีกในลักษณะที่โทษเธอว่า เธอเป็นเหมือน “มะเร็งร้าย” ที่ทำลาย Bioware ภายหลังคุณ Helper ก็ได้สร้างบัญชี Twitter อันใหม่ขึ้น แต่สร้างใหม่ได้ไม่นานก็ต้องปิดมันไปอีกเนื่องจากมีคนมาทวีตข้อความต่อว่าเธอเป็นนจำนวนมากและแต่ละข้อความก็ช่างเลวร้ายสิ้นดี
เธอกล่าวว่าเธอพยายามจะไม่อ่านข้อความเหล่านั้น แต่มีบางคนทำภาพกราฟิคคุกคามชีวิตลูก ๆ ของเธอถึงขนาดสาปแช่งเธอว่า พวกจะเขาบอกลูก ๆ ของเธอขณะเดินไปโรงเรียนว่าเด็ก ๆ ที่เป็นลูกของเธอน่าจะแท้งไปซะ หรือแม้กระทั่งต่อว่าเธอว่าไม่ควรจะเป็นแม่คน คุณ Helper ได้รับแม้กระทั่งโทรศัพท์มาข่มขู่และข้อความที่มาจาก Social Netowrk ของ Bioware
แต่ใช่ว่าจะมีแต่ความเลวร้ายไปซะหมด คุณ Helper ยังบอกอีกด้วยว่าเธอได้รับข้อความให้กำลังใจจากผู้หญิงและชาวรักร่วมเพศเป็นร้อย ๆ ข้อความ พวกเขาเข้าใจเธอ พวกเขาพบว่าชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปก็เพราะเกมของเธอ และด้วยสิ่งเหล่านี้ที่เธอกำลังเผชิญทำให้เธอกลับมาตระหนักว่าเธอควรจะสอนลูก ๆ ของเธออย่างไรเพื่อให้รับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เธอบอกกับลูก ๆ เสมอเวลาที่พวกเขาดูรายการทีวีต่าง ๆ และบอกลูก ๆ ว่า แม้จะไม่ชอบใจในตัวรายการทีวีนั้น ๆ แต่ก็ควรจะให้ความเคารพบุคคลทั้งหลายที่อยู่เบื้องหลังเหล่านั้น
เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้วงการเกม (และวงการต่าง ๆ) ต้องสูญเสียบุคลากรที่มีคุณภาพไป เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นไม่ต้องการตกเป็นเป้าหมายในการถูกทำลายล้างอีกแล้ว
เธอกล่าวว่า มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักพัฒนาเกมที่เป็นผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มีแต่คนมองข้ามและเลือกที่จะไม่สนใจ โดยมากแล้วศิลปิน หรือนักเขียนบทส่วนใหญ่ (รวมทั้งโปรแกรมเมอร์ด้วย) ล้วนเป็นบุคคลที่ค่อนข้างจะอ่อนไหวกับเรื่องแบบนี้ สิ่งสำคัญคือจำเป็นต้องมีการทำอะไรบางอย่างที่จะดึงรั้งคนเหล่านี้ไว้ไม่ให้พวกเขาต้องตกเป็นเป้าถูกทำลายและทำให้พวกเขาหมดกำลังใจ
การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกคุกคามในโลกไซเบอร์
แต่ว่าอันที่จริงแล้วไม่ใช่แค่วงการเกมเท่านั้นแต่มีบุคคลในวงการบันเทิิงก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทางเว็บไซต์ Polygon ได้สัมภาษณ์ตัวแทนจากทาง International Game Developers Association หรือ IGDA นามว่า Kate Edwards เธอกล่าวว่า ในประเด็นที่วงการเกมประสบอยู่ในปัจจุบันได้ถูกนำมาเป็นหัวข้อหลักในการประชุมของ IGDA ครั้งที่ผ่านมา และด้วยเหตุนี้ก็น่าจะต้องมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือขึ้น เพื่อช่วยให้บุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายสามารถผ่านพ้นวิกฤตเหล่านี้ไปได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานในวงการนี้ใหม่ ๆ พวกเขาอาจต้องแบกรับภาระนี้มากขึ้น
นอกจากนี้คุณ Kate ยังยกตัวอย่างบุคคลที่ทำงานในวงการบันเทิงที่ประสบเหตุนี้อย่าง George Lucas ที่ประกาศอำลาวงการโดยเขาให้สัมภาษณ์กับทาง New York times ว่าสาเหตุมาจากการถูกต่อต้านจากกลุ่มแฟน ๆ ซึ่งนับเป็นการสูญเสียบุคลากรคุณภาพจากการต่อว่าโดยไร้เหตุผลของคนบางกลุ่ม
และเธอยังกล่าวเพิ่มเติมว่าการกระทำรุนแรงในโลกไซเบอร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะให้ความสำคัญเพราะไม่อย่างนั้นเราอาจสูญเสียบุคลากรที่มีคุณภาพไปอีก
ภัยคุกคามกับการพัฒนาเกม
“มันกำลังแย่ลงเรื่อย ๆ” คุณ Greg Zeschuk กล่าว ตัวเขาเองเคยทำงานให้กับ Bioware มาก่อนในเกม Mass Effect ก่อนที่เขาจะลาออกมาทำงานอื่นที่เขารัก เขากล่าวว่าถึงแม้ว่าเขาจะลาออกมาจากวงการเกมแล้วแต่ก็ยังคอยติดตามอยู่บ่อย ๆ เขาพบว่ามีแฟน ๆ หลาย ๆ คนไม่พอใจบริษัทอย่างมาก อาจเป็นเพราะฉากจบของ Mass Effect 3 ก็เป็นได้ จึงทำให้พวกเขาไม่พอใจบริษัทและตัวผู้พัฒนาเกม เขากล่าวว่าไม่น่าเชื่อเลยว่าผู้คนจะทำอะไรได้มากมายขนาดนี้ในโลกออนไลน์
เขาคิดว่าเป็นเพราะความง่ายในการเข้าถึง มันเหมือนกับมีคนเอาเครื่องขยายเสียงมาตั้งที่โต๊ะของคุณ คุณสามารถจะใช้มันเมื่อไรก็ได้หากคุณต้องการ และเมื่อคุณรู้สึกโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงคุณก็จะทำการส่งอีเมล หรือโพสต์ หรือทำวิดีโอออกมาต่อว่า ด่าทอในสิ่งที่คุณไม่พอใจ การเข้าถึงได้ง่ายขึ้นนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เสมือนดาบสองคมและเมื่อใดก็ตามที่มีการถกเถียงกันมากขึ้นในโลกอินเตอร์เน็ตก็เปรียบเสมือนการราดน้ำมันลงในกองเพลิง ยิ่งเถียงกันมากไฟก็ยิ่งลุกลามมากขึ้น
นอกจากนี้เขายังได้ทิ้งท้ายว่า เขาหวังว่าสักวันหนึ่งเรื่องนี้น่าจะคลี่คลายลงได้บ้าง มีคนอีกมากที่ต้องถูกลากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วทำให้ชีวิตของพวกเขาย่ำแย่ลง ลำพังแค่การพัฒนาเกมมันก็เครียดอยู่แล้ว ผลกระทบนี้ทำให้ต้องสูญเสียบุคลากรที่มีคุณภาพออกไปซึ่งมันไม่ดีเลย
แหล่งอ้างอิง (Reference) : Polygon
รูปภาพ (Images) : care4victims.com ,usatoday, Techlationships.com , DragonAge2
ที่เจ้าของบล็อกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะว่าต้องการให้นักเล่นเกมในบ้านเราเป็นนักเล่นเกมที่มีคุณภาพ และไม่ใช่แค่นักเล่นเกมเท่านั้นค่ะ แต่ต้องการให้ชาวเน็ตในบ้านเราหันมาตระหนักเรื่องนี้ เพระว่าตอนนี้ในบ้านเราความรุนแรงมันยังไม่มากเท่าต่างประเทศ อย่างเช่น ประเทศเกาหลี ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่ามีดาราฆ่าตัวตายเนื่องจากถูกกดดันอย่างหนักทางอินเตอร์เน็ต และมีแอนตี้แฟนจำนวนมากโพสต์ข้อความถล่มดาราที่ตนไม่ชอบ จนทำให้ดาราบางคนถึงกับต้องถอนตัวจากวงการไปเลยก็มี หวังว่าชาวเน็ตในบ้านเราจะไม่รุนแรงถึงขั้นนั้นนะคะ ยังไงก็ฝากกันเอาไว้ด้วยเพื่อที่เราจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อเสียเอง และจะได้ไม่ไปทำให้คนอื่นต้องเดือดร้อนเพราะความเดือดดาลในใจของเราเอง
เพิ่มเติม บทความนี้เจ้าของบล็อกไม่ได้แปลมาแบบถอดความนะคะ แต่อ่านแล้วสรุปเอาตามความเข้าใจค่ะแล้วก็เพิ่มข้อมูลบ้างอีกนิดหน่อย สำหรับท่านใดอยากจะเสริม จะเพิ่มตรงไหนก็บอกได้เลยนะคะ
[…] ความรุนแรงบนโลกไซเบอร์ ปัญหาที่ควร… […]
คอมเม้นนี้เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ เต็มไปด้วยอคติ คิดไปเอง ไม่ยืนยันความถูกต้องในข้อมูลที่อ้างถึง (และอาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อหาในบทความของเจ้าของบล็อค)… โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
Bioware เป็นตัวอย่างของความผิดพลาดที่เกิดจากการแทรกแซงของนายทุน ทำให้ภาคต่อของเกมระดับตำนานเละเทะจนชวนตำหนิและน่าด่าทอ
นับแต่ให้กำเนิด Baldur’s Gate ในปี 1998, Bioware ทะยานขึ้นเป็นเสาหลักของวงการ CRPG มาตลอดสิบกว่าปี มีเกมชั้นยอดมากมาย และเกือบทุกเกมได้รับรางวัล Game of the Year แทบจะเป็นเอกฉันท์จากสื่อทั่วโลก
ความเสื่อมถอยของ Bioware เริ่มปรากฏในปี 2007 เมื่อถูกนายทุนยักษ์ใหญ่ Electronic Arts เข้าครอบครอง (‘เดาเอาว่า’ ตอนนั้น Bioware ต้องการทุนเพิ่มเพราะคิดการณ์ใหญ่เข้าร่วมวงเกมออนไลน์กับ MMORPG ที่ชื่อ Star Wars: The Old Republic หลังจากเห็น World of Warcraft ประสบความสำเร็จถล่มทลายได้ทั้งกล่องและเงินก้อนโต อันที่จริงแล้ว The Old Republic ถูกประกาศตัวอย่างเป็นทางการในปี 2008 หลังจาก EA เข้าเทคโอเวอร์ กระนั้นก็ตามข่าวที่ว่า Bioware จะทำ MMORPG มีมานานแล้วว่าจะร่วมกันทำกับบริษัท LucasArts คู่หูเก่า)
สังเกตดูดีๆ ปี 2007 Bioware ออก Mass Effect ภาคแรกได้รับเสียงชื่นชมจากคนเล่นทั้งโลก เพราะ EA เข้ามาแทรกแซงไม่ทัน ส่วน Dragon Age: Origins นั้น EA หาช่องว่างเข้าไปจุ้นจ้านไม่ได้เพราะเกมถูกพัฒนามาไปไกลมากแล้ว (โครงการ Dragon Age: Origins เริ่มก่อน Mass Effect ซะอีกครับ) ดังนั้นเมื่อ Dragon Age: Origins ปรากฏในปลายปี 2009 จึงได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น RPG ดีเด่นแห่งทศวรรษเลยทีเดียว
ในปี 2007 ที่ EA เข้าไปเทค Bioware โครงการ Mass Effect 2 เริ่มต้นขึ้นทันที เกมภาคต่อออกในปี 2010 (หลัง Dragon Age: Origins ไม่กี่เดือน) แม้จะได้รับเสียงวิจารณ์ในทางบวกแต่ขณะเดียวกันก็เริ่มมีเสียงบ่นจากแฟนพันธุ์แท้ของ Bioware ที่รูปแบบการเล่นภาค 2 หันไปเน้นแอ็คชั่นเป็นหลักลดระดับความเป็น RPG ให้เป็นรอง ผิดแผกจากชิ้นงานขึ้นหิ้งเดิมๆ ของ Bioware
นั่นไม่เท่ากับ Dragon Age II ซึ่งตามออกมาในปี 2011 แสดงให้เห็นถึงความตกต่ำอย่างชัดเจนในผลงานของ Bioware ซึ่งเกิดจากแนวคิดการบริหารจาก EA เมื่อจับรวม Bioware เข้ากับทีมพัฒนาของ EA อีกชุดที่ดูจากผลงานในอดีตแล้วไม่มีอะไรดีเด่นแม้แต่น้อย
รูปแบบอันน่าเกลียดของ Dragon Age II คือสุกเอาเผากิน ฉวยโอกาสตีเหล็กตอนร้อนโหนกระแสเกมภาคแรก ในความเห็นส่วนตัว Dragon Age II เลียนแบบคอนเซ็ปต์การสร้างโลกเกมมาจาก The Witcher ทั้งคู่มีรูปแบบนำฉากแผนที่มาใช้งานซ้ำๆ ต่างกันก็ตรงที่ The Witcher แสดงให้เห็นถึง ‘กึ๋น’ อันสุดยอด แม้จะวนกลับที่เก่าแต่การเล่นลุ้นระทึกไม่มีเบื่อ ผิดจาก Dragon Age II ซึ่งเห็นเจตนาชัดๆ ว่าทำไปเพื่อย่นเวลาให้เกมแล้วเสร็จเร็วที่สุดจากนั้นก็อาศัยชื่อเสียงเก่ากอบโกยเงินทอง
(The Witcher เป็นผลงานเกม RPG คลาสสิคของบริษัท CD Projekt จากยุโรปซึ่งซื้อเอ็นจิ้นเกมจาก Bioware ไปพัฒนา ทาง Bioware ได้ส่งทีมงานไปช่วยดูแล จึงเป็นไปได้สูงที่ผม ‘เดา’ ว่า Dragon Age II ลอกเลียนไอเดียใช้ฉากแผนที่ซ้ำมาจาก The Witcher)
ไม่พักต้องเอ่ยถึงเกมออนไลน์ Star Wars: The Old Republic ซึ่งยอดไม่เข้าเป้าจนต้องเปิดให้เล่นฟรีส่วนหนึ่ง จนมาถึงบทสรุปตอนจบของ Mass Effect 3 ซึ่งโดนกระหน่ำก่นด่าจากผู้เล่นทุกสารทิศ
กันยายน 2012 หนึ่งวันหลังจาก Dragon Age III ประกาศตัวอย่างเป็นทางการ บุคคลในตำนาน Ray Muzyka กับ Greg Zeschuk ผู้ก่อตั้ง Bioware ต่างพากันลาออกจาก EA…
…ทิ้งไว้แต่ความผิดหวัง เกลียดชัง เสียงสาบแช่ง และคำขู่อาฆาตจากแฟนเกมกลุ่มหนึ่งดังที่เจ้าของบล็อคเขียนถึงในบทความนี้
โอ้โห อย่างนี้นี่เองถึงว่าทำไมถึงมีแต่คนสาปแช่ง EA เกือบทุกที่ที่เข้าไปอ่านความเห็นเลย พอ ๆ กับ Activision เลยทีเดียว
ต้องขอบคุณข้อมูลจากคุณ MkFu มากค่ะ ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย
อันที่จริงยังมีเรื่องน่าตลกและแปลกแต่จริงยิ่งกว่า Bioware กับ EA อีกครับ เพราะมันมีทั้ง ‘ความผิดพลาดที่เกิดจากการแทรกแซงของนายทุน’ และ ‘ความสำเร็จที่เกิดจากการแทรกแซงของนายทุน’ เกิดกับบริษัททีมพัฒนาชุดเดียวกัน!!!
เกรงว่ามันจะห่างไกลจากหัวข้อบทความนี้ ก็เลยไม่กล้าเขียนถึง (เว้นแต่เจ้าของบล็อคจะอนุญาติ :-P)
ได้เลยค่ะ คุณ MkFu จะเขียนเป็นบทความยาว ๆ มาเลยก็ได้ค่ะ เดี๋ยวเจ้าของบล็อกจะได้นำไปแปะเป็นบทความใหม่ไว้ในบล็อกโดยใส่เครดิตให้เป็นของคุณ MkFu เลยค่ะ (ถ้าคุณ MkFu ไม่ขัดข้องนะคะ :D) ท่านผู้อ่านคนอื่น ๆ จะได้เห็นและอ่านเป็นความรู้ด้วย ยินดีมากเลยค่ะ